
เรื่อง : สมคิด เอนกทวีผล
หากเอ่ยถึง “ของหรู” หรือความหรูหราในสินค้าและบริการ หลายท่านอาจเกิดภาพลักษณ์ในความคิดว่าต้องเป็นสินค้า “ของนอก” หรือบริการที่เลียนแบบต่างชาติมา แต่ทว่าความจริงแล้ววัฒนธรรมท้องถิ่นก็มีส่วนที่ถูกนำมาใช้ต่อยอดประยุกต์เป็นสินค้าและบริการที่หรูหราได้ นำไปสู่การนำเสนอ “Luxury Lifestyle” ที่ทวีความน่าสัมผัสและค้นหายิ่งกว่าความหรูหราทั่วๆไป
สรวุฒิ เติมวิริยะกุล และ อภิชัย เศษชัยชาญ สองผู้บริหารช่วยกันเล่าถึงการนำแรงบันดาลใจไปใช้ในงานออกแบบผลิตสินค้าของแต่งบ้าน ซึ่งเริ่มต้นจากความชื่นชอบในความ "ละเมียด" ของวิถีท้องถิ่นภาคเหนือ นำไปสู่การสร้างสินค้าของแต่งบ้าน จนกระทั่งกิจการได้เติบโตครั้งสำคัญจากการได้สร้างชิ้นงานเพื่อประดับบ้านให้ผู้นำประเทศทั้ง 50 หลังในการประชุม ASEM SUMMIT ที่ลาว
“ทีมเราจะเน้นงานที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ รูปทรง สี texture หรือ วัสดุ เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์อยากกลับเข้าไปอยู่ใก้ลๆธรรมชาติทุกคน"
นอกจากความเป็นธรรมชาติที่อยู่ในวัสดุและการออกแบบแล้ว Muse ยังผสมภูมิปัญญาท้องถิ่นไปด้วย เช่น การใช้ลายผ้าพื้นถิ่นเข้ามาสร้างเป็น wall art แต่ว่านำมาใช้ "แค่เสี้ยวหนึ่ง และใส่ความคิดเราเพิ่มลงไป" เช่นใช้เทคนิคการสร้างลายบนโลหะ ลวดลายผ้าทอ แต่สร้างมันขึ้นบนวัสดุที่ผู้คนอาจคาดไม่ถึง เช่นลายผ้าทอบนกระจกโบราณ
หากถามถึงการจัดการด้านกระบวนการผลิต ทั้งสองชี้ชัดว่า "งานลักษณะเราไม่มีทางเป็นอุตสาหกรรม 100% ได้เด็ดขาด การทำแบบนั้นคุณค่างาน และรายละเอียดในงานจะหมดไปทันที"
แต่ก็ใช่ว่า Muse Design Studio จะยืนอยู่บนการเป็นหัตกรรมแบบ 100% แต่อย่างใด เพราะอาจทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจได้ ซึ่งทั้งสองยกตัวอย่างการต้องผลิตและจัดส่งถึง 2000 ชิ้นในเวลาสามเดือน หากไม่พึ่งความเป็นอุตสาหกรรมเลยย่อมไม่ได้ แต่ต้องรักษาจุดเด่นของชิ้นงานไว้ เช่น การลงรักปิดทอง หรือ การเขียนลายเส้นบนงาน ซึ่งต้องเป็นหัตถกรรม ส่วนขั้นตอนอื่นๆก็ทำแบบอุตสาหกรรมได้
http://www.muse-th.com
Gerard Collection
จากการออกแบบสไตล์ "น้อยแต่หรู" หรือเรียกง่ายๆว่า “Less is more” เฟอร์นิเจอร์ของ Gerard Collection ที่ใช้ไม้ไผ่ท้องถิ่นและอิงวัฒนธรรมทางเหนือ จึงดูทันสมัยไปด้วยพร้อมกัน ไม่ใช่แบบโบราณดั้งเดิม
นอกจากนี้กระบวนการผลิตก็เป็นแบบอุตสาหกรรม เพื่อให้มีความทนทาน ผสานไปกับฝีมือการผลิตของช่างท้องถิ่นร่วมด้วย โดยให้นิยาม 3 แนวการออกแบบที่ใช้ตอนนี้ว่าเป็นแบบ contemporary, modern และแนว “factory chiq” ที่กำลังมาแรง
ผลิตภัณฑ์ของ Gerard Collection ส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่ท้องถิ่น ซึ่งมีหลากหลายให้เลือก สินค้าหลายรุ่นก็ใช้โลหะร่วมด้วย ซึ่งทศพรมองว่าไม้ไผ่มีความใกล้ชิดกับคนล้านนามาตลอดตั้งแต่ของการจักสาน เครื่องใช้ต่าง ๆ การสร้างบ้าน ตลอดจนเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือแม้กระทั่งนำมาทำอาหาร
http://www.tcdcconnect.com/GerardCollection
Oasis Spa
นอกจากชื่อที่เป็นภาษาอังกฤษสื่อถึงความร่มรื่นท่ามกลางความแห้งแล้งแห่งตัวเมือง ส่วนอื่นๆที่เหลือของโอเอซิสสปา ไม่ว่าจะการออกแบบสถานที่ การแต่งกายพนักงาน บรรยากาศ รูป(การตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์) รส(ชาที่บริการลูกค้า) กลิ่น(กลิ่นอโรม่า สกัดจากดอกไม้เมืองเหนือ อาทิ เก็ดตะหวา ดอกพุทรักษา กระดังงา) เสียงเพลงประกอบ สไตล์การต้อนรับ ล้วนแต่อิงความเป็นล้านนา ให้มีความหรูหราในกลิ่นอายถิ่นเหนือ
ทั้งนี้เพราะแม้ผู้ก่อตั้งคือ Toby Allen จะเป็นชาวต่างชาติ แถมยังทำธุรกิจซอฟต์แวร์ระบบ "Spa Management" ที่เน้นความเป็นมาตรฐานสากล แต่ก็ชื่นชมและเชื่อมั่นในการนำวิถีท้องถิ่นมาผสมผสาน โดยมี ภาคิน พลอยภิชา ผู้ร่วมก่อตั้งชาวไทยมาร่วมด้วยช่วยกัน
ฉะนั้นความหรูหราแบบล้านนาที่โลดแล่นอยู่เบื้องหน้า จึงมีความหรูหรามาเต็มของระบบไอทีขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังอย่างเต็มสูบด้วย ตั้งแต่ระบบข้อมูลลูกค้า ระบบการเงิน ไปจนถึงการตลาดผ่านสื่อดิจิตอลและ social network ต่างๆ
ภาคินมองว่า "ยิ่งเทคโนโลยีมีบทบาทในวิถีชีวิตมากเท่าไหร่ คนเราก็จะยิ่งต้องการพักผ่อนมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะจากการดูแลเอาใจใส่ทางด้านจิตวิญญาณจากมนุษย์ด้วยกัน" และมองว่าสปาแบบไทยโดยเฉพาะสไตล์ล้านนาสามารถตอบโจทย์นี้ได้ และสามารถใช้ได้กับทุกหนแห่งไม่ใช่แค่ที่ภาคเหนือ
http://www.tcdcconnect.com/oasisspa