
แม้ว่างานออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านส่วนใหญ่จะทำจากวัสดุที่มีความแข็งแรงเพื่อให้โครงสร้างของชิ้นงานมีความมั่นคง แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกลับมีรูปทรงที่ดูนุ่มนวลพร้อมลวดลายที่อ่อนช้อย และนี่คืออีกหนึ่งเสน่ห์ของผลิตภัณฑ์ของภาคเหนือที่นำวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิต มาถ่ายทอดบนชิ้นงาน เช่น งานช่างฝีมือแกะสลักไม้ การดัดเหล็กให้มีความพริ้วไหว การดัดไม้ให้มีความโค้ง หรือการวาดลวดลายบนกระเบื้อง เป็นต้น
สำหรับงาน Chiangmai Design Week 2014 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้นำผู้ประกอบการด้านงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นจำนวน 6 ผู้ประกอบการ มาร่วมจัดแสดงผลงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการประกอบธุรกิจสร้างสรรค์ของภาคเหนือ
Sarran - ศรันย์ อยู่คงดี
ศรันย์ คิดเห็นว่า ความอ่อนช้อย โค้งมน เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่เราพบเห็นบนชิ้นงานที่มาจากทางภาคเหนือ เมื่อถอดรหัสจากงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่ง ภาพจิตกรรม ฯลฯ ของชาวเหนือจะพบรูปทรงวงกลม วงรี เข้าไปลบมุมเหลี่ยมขัดเกลารูปทรงให้ดูนุ่มนวล อาจเป็นเพราะวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่มีการปรุงแต่ง พร้อมการอยู่ร่วมกับธรรมชาติจึงทำให้ชิ้นงานมีความอ่อนช้อยและแฝงไปด้วยเสน่ห์ของชาวเหนือ หนึ่งในตัวอย่างงานของ Sarran คือนำเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนผนังของวัดพระสิงห์ มาถ่ายทอดบนชิ้นงาน โดยถอดรหัสเป็นสัญลักษณ์รูปทรงโค้งมน จากนั้นนำมาถ่ายทอดลงบนผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ ฯลฯ
เอกลักษณ์ของ Sarran คือ การออกแบบชิ้นงานที่เต็มไปด้วยความสุขในรูปแบบไทยๆ ชิ้นงานมักจะมี Layer ทับซ้อนกันเพื่อสื่อให้เห็นถึงความอบอุ่น ความผูกพัน การโอบกอดของคนในครอบครัว โดยใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ สำหรับงาน Chaingmai Design Week ศรันย์ได้เตรียมชิ้นงานโดยนำคูเมืองของจังหวัดเชียงใหม่มาถ่ายทอดเป็น Partition พร้อมลบมุมเหลี่ยมยอดมุมแหลมผสมผสานกับวัฒนธรรมที่อ่อนช้อย โดยเลือกใช้วัสดุกระดาษในการนำเสนองาน
http://www.tcdcconnect.com/saran.youkongdee
ชิ้นงาม - ชัยวัฒน์ พิภพพรชัย
แม้ว่าจะเกิดที่กรุงเทพฯ แต่ชัยวัฒน์ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่เชียงใหม่และลงหลักปักฐานมากว่า 20 ปี เขาพบว่าเสน่ห์ของผลิตภัณฑ์เชียงใหม่คือ “งานหัตถกรรม” งานทำมือที่มีความโดดเด่นและสอดคล้องกับวิถีชุมชนที่มีชีวิตความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย แม้ว่าผลิตภัณฑ์เหล็กดัดของ ”ชิ้นงาม” จะมีลวดลายตามความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่แฝงลงไปในงานเหล็กก็คือความอ่อนช้อยนุ่มนวลที่เกิดจากการดัดเหล็กให้เป็นรูปทรงต่างๆ จากช่างฝีมือที่มีถิ่นฐานอยู่ในเชียงใหม่กว่า 80%
เอกลักษณ์ของชิ้นงามคือ การจัดการในด้านการผลิต ทีมงานออกแบบจะร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดกับช่างฝีมือเพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีคุณภาพ แม้ว่าชิ้นงานจะมีกลิ่นอายของความเป็นยุโรปแต่กลับมีมนต์เสน่ห์ของความอ่อนช้อยเข้าไปผสมผสาน สำหรับงาน Chiangmai Design Week ทีมงานได้จัดเตรียมโดมเหล็ก (Gazebo) ที่รูปทรงอิสระฟรีฟอร์ม พร้อมเพิ่มความอ่อนช้อยผ่านการตกแต่งด้วยงานดัดเหล็ก จากนั้นจะใช้สีที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนเชียงใหม่เข้าไปเสริมเสน่ห์บนชิ้นงาน
กระเบื้องไม้งาม - สุกฤษฎิ์ สุขิตเจริญสุข
ถ้าพูดถึงผลิตภัณฑ์จากภาคเหนือ สุกฤษฎิ์ คิดเห็นว่า งานช่างฝีมือพร้อมลวดลายที่ละเอียดอ่อนช้อยเป็นเสน่ห์ของผลิตภัณฑ์และสะท้อนถึงรากเหง้าของชาวล้านนา ทีมงานออกแบบจากกระเบื้องไม้งามทำการศึกษาค้นคว้าและนำลวดลายที่ปรากฏภายในวัดทางภาคเหนือมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์กระเบื้องซีเมนต์โบราณ พร้อมคิดสูตรส่วนผสมของซีเมนต์ เช่น การนำผงหินอ่อนเข้าไปผสมกับวัตถุดิบหลักเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีเอกลักษณ์ด้านผิวสัมผัสที่แตกต่างจากกระเบื้องซีเมนต์ที่พบเห็นกันทั่วไป
เอกลักษณ์ของกระเบื้องไม้งาม คือ การประยุกต์กระเบื้องสไตล์โคโลเนียล โดยใช้ลวดลายของทางล้านนาสรรสร้างกระเบื้องซีเมนต์โบราณ เป็นผู้บุกเบิกและอนุรักษ์การผลิตทั้งกระเบื้องซีเมนต์แบบว่าว และกระเบื้องซีเมนต์ลายอื่นๆในสไตล์คลาสสิกย้อนยุค สำหรับงาน Chiangmai Design Week ทีมงานจะนำกระเบื้องซีเมนต์ที่ได้รับรางวัลมาจัดแสดง พร้อมนำกระเบื้องซีเมนต์อีกหลากหลายคอลเลคชั่นมาจัดแสดงภายในงาน
Green Forum Products & Style - มณี มีปัญญา และ สวัสดิ์ มีปัญญา
งานหัตถกรรม เป็นอันดับแรกที่มณีพูดถึงเมื่อเอ่ยถึงเสน่ห์ของผลิตภัณฑ์จากทางภาคเหนือ ซึ่งถูกนำมาใช้ในงานออกแบบผลิตภัณฑ์คุณภาพจากไม้ไผ่ภายใต้บริษัท Green Forum Product & Style ทีมงานนำเสนอรูปแบบผลิตภัณฑ์และของตกแต่งบ้านในแนวโมเดิร์นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รูปทรงของผลิตภัณฑ์จะมีเส้นสายความโค้งที่งดงาม เน้นความอิสระทางด้านรูปทรง และมีความเป็น Organic ผลิตโดยช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญ วัสดุหลักที่ใช้ในกระบวนการผลิตจะเป็นไม้ไผ่กว่า 20 ชนิด
เอกลักษณ์ของ Green Forum Product & Style คือ การนำธรรมชาติมาบรรจบกับงานออกแบบ ที่สะท้อนทั้งตัวตนของผู้ผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับงาน Chiangmai Design Week ทีมงานได้เตรียมชิ้นงานประติมากรรมที่คุณจะไม่คาดคิดว่าเกิดขึ้นจากงานไม้ไผ่ทั้งหมดมาจัดแสดง
www.tcdcconnect.com/greenforum
Kome Tong Classic - รัตนพล ทะจา
เมื่อพูดถึงเสน่ห์ของผลิตภัณฑ์ทางภาคเหนือ รัตนพลเล่าให้ฟังว่า “แม้อาณาจักรล้านนาจะถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้างกว่า 200 ปีมื่อครั้งเป็นเมืองขึ้นของพม่า แต่กลับมีหลายผลิตภัณฑ์ที่ยังคงเอกลักษณ์บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิต อาทิ กระบวนการทอผ้าที่มีมากกว่าการผลิตผ้าผืนไว้ใช้งาน แต่เป็นองค์ความรู้ทั้งกระบวนการผลิต อาทิ การใช้สี การใส่เรื่องราวผ่านลวดลายอันงดงามบนชิ้นผ้า, งานไม้ที่นอกจากจะมีรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญด้านงานแกะสลักไม้ และท้ายที่สุดคืองานดิน ทั้งงานปั้นและงานเซรามิค ที่แสดงให้เห็นถึงการนำวัสดุท้องถิ่นมาผสมผสานกับงานออกแบบลวดลายและเทคนิคการเคลือบผิว อาจกล่าวได้ว่า วัสดุทั้ง 3 ได้แก่ ผ้า ดิน และ งานไม้ มีเสน่ห์มากที่สุดเมื่อนึกถึงผลิตภัณฑ์จากทางภาคเหนือ” โคมต้อง เลือกใช้กระดาษสาในการทำงาน โดยนำตัวเองเข้าไปอยู่ในกระดาษ ผสมผสานกับวัสดุสมัยใหม่ เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของกระดาษที่มีอายุการใช้งานที่สั้น จนเกิดผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้า “Kome Tong Classic)
นิยามของ โคมต้อง คือ งานศิลปะที่ให้ความสำคัญด้านความงดงาม การออกแบบ และสามารถสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ คำว่า “โคม” หมายถึง โคมไฟ แต่สำหรับรัตนพล มันคือแสงสว่างที่คนจากทั้งโลกช่วยกันจุด ส่วนคำว่า “ต้อง” เป็นการเล่าเรื่องของการทำงานศิลปะ สำหรับงาน Chiangmai Design Week โคมต้องนำผลงานที่มีชื่อว่า “From Chandelier” จะเป็นโคมไฟที่มีความพิเศษมากกว่าทุกชิ้นที่เคยผลิต เอกลักษณ์ของโคมไฟชิ้นนี้ คือ “กระบวนการคิด” โดยเชื่อมความเป็นคนเข้ากับธรรมชาติซึ่งมีคุณค่ามากกว่าการรักษ์สิ่งแวดล้อม
ปิยะวาท กล่าวว่า “กว่า 20 ปีในการทำอุตสาหกรรมของตกแต่งบ้านสะท้อนให้เห็นว่า รากเหง้าทางวัฒนธรรมของภาคเหนือคือเอกลักษณ์อันโดดเด่นบนทุกผลิตภัณฑ์ที่นอกจากจะสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์แล้วยังช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันในตลาดต่างประเทศด้วย” ทีมงาน United Arts ผสานงานออกแบบ งานช่างฝีมือ และศึกษากลุ่มเป้าหมาย (เน้นการส่งออกเป็นหลัก) สรรสร้างผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ โดยมีชาวต่างประเทศเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ วัสดุไม้ที่นำมาใช้จะมี ไม้มะม่วง และไม้ฉำฉา เป็นหลัก
เอกลักษณ์ของ United Arts คือ การประยุกต์งานช่างฝีมือท้องถิ่นโดยใช้กระบวนการออกแบบสรรสร้างผลิตภัณฑ์ พร้อมนำเรื่องราวและวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาถ่ายทอดลงบนชิ้นงาน สำหรับงาน Chiangmai Design Week ที่จะถึงนี้ทาง United Arts กำลังพัฒนาคลอเลคชั่นส์ใหม่เพื่อจัดแสดงในงาน โดยคาดว่าจะมีประมาณ 2-3 คอลเลคชั่นส์
พบกับนิทรรศการ เวิร์กช็อป เสวนา โดยผู้ประกอบการเซรามิกเชียงใหม่ และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมายมายที่จะเผยศักยภาพด้านการออกแบบของเมืองเชียงใหม่ ใน เทศการงานออกแบบเชียงใหม่ | Chiang Mai Design Week 2014 | 6 - 14 December 2014
http://www.chiangmaidesignweek.com |