
อุปมา (OOPPAMA) แบรนด์ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากหนังแท้สุดเก๋ที่ “เน้นการใช้วัสดุหลักที่มาจากการรีไซเคิล หรือวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่” ก่อตั้งโดย ฤดี ศราวุฒิไพบูลย์ นักออกแบบที่หลงรักการทำกระเป๋าเป็นชีวิตจิตใจ ถึงแม้จะร่ำเรียนมาทางด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ แล้วก็ทำงานออกแบบในหลากหลายสาขา (ตรงกับที่เรียนมาบ้าง ไม่ตรงบ้าง) พอทำงานมาได้ช่วงหนึ่ง จึงอยากจะทดลองทำอะไรของตัวเองขึ้นมา ด้วยจังหวะกับโอกาสที่มาถึงพอดิบพอดี ฤดีจึงตัดสินใจเริ่มต้นออกแบบกระเป๋าในชื่อแบรนด์ OOPPAMA และผลลัพธ์ที่ได้ก็กลายเป็นกระเป๋าสวยเตะตาที่ทีมงาน TCDC ได้คัดเลือกมานำเสนอบนเวที Debut talk ครั้งที่ 11
อุปมา คือ การเปรียบเทียบ
เพราะฤดีมีความสนอกสนใจเกี่ยวกับเรื่องแฟชั่นและศิลปวัฒนธรรมไทย ดังนั้น งานออกแบบของแบรนด์จึงโฟกัสไปที่เรื่องของสถาปัตยกรรมและหัตถกรรมไทยเป็นหลัก ด้วยการดึงเอาอัตลักษณ์ของความเป็นไทยจากงานสถาปัตยกรรมและหัตถกรรม ที่ผ่านการตีความจากมุมมองของฤดีมาสร้างเป็นลวดลายไทยร่วมสมัย แนวคิดดังกล่าวจึงเปรียบได้กับการ “อุปมา” เพื่อเปรียบเทียบความเหมือนกันระหว่างสองสิ่ง ประกอบกับการที่ฤดีได้ศึกษาและสำรวจตลาดเครื่องหนังแฟชั่น แล้วพบว่า “ยังไม่เห็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปแบบกระเป๋าอเนกประสงค์ในสไตล์ของ OOPPAMA วางขายในตลาด เลยคิดว่าน่าจะมีโอกาสทำตลาดได้” ความพิเศษอีกอย่างของแบรนด์ คือ “การเลือกใช้วัสดุหลักที่มาจากการรีไซเคิล หรือวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่” โดยนำวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ยังมีคุณภาพดี เช่น หนังแท้ซึ่งมีหลายรูปแบบไม่ซ้ำกันทั้งเรื่องของสีสันและพื้นผิว เศษหนังหลายชนิดจะถูกนำมาผสมผสานเข้าด้วยกัน จนเกิดพื้นผิวที่น่าสนใจ “เพราะอุปมาเชื่อว่า ของใช้ก็เหมือนกับผู้คนที่มีบุคลิก อารมณ์ และความซับซ้อน การผสมผสานความหลากหลาย” โดยเลือกใช้เทคนิค Slotting เมื่อนำมาผนวกกับการออกแบบลวดลายในสไตล์ของฤดีแล้ว จึงช่วยสร้างคุณค่าเฉพาะให้กับชิ้นงานอย่างโดดเด่น “กระเป๋าทุกใบของเรามาจากชิ้นหนังมากกว่า 40 ชิ้นที่มีผิวสัมผัสและสีแตกต่างกัน เอามาประกอบขึ้นรูปด้วยมือ ความใส่ใจและความคิดสร้างสรรค์ ทุกมุมของกระเป๋าแบรนด์ OOPPAMA ทุกใบจึงมีเอกลักษณ์และสื่อสารความเป็นไทยร่วมสมัยตามมุมมองของแบรนด์ได้อย่างชัดเจน”
นำเสนอความแตกต่าง
ฤดีได้เล่าถึงการเดินทางของแบรนด์จากจุดเริ่มต้น ตั้งแต่ที่ได้ลงไปสำรวจตลาด จนมองเห็นช่องว่างทางการตลาดที่เป็นไปได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้วางแผนการทำตลาดของแบรนด์มากนัก แต่เพราะโอกาสประจวบเหมาะที่จะทำฤดีจึงไม่ลังเล ถึงจะยังไม่มีลูกค้าที่ชัดเจนในมือ แต่ด้วยความที่สินค้าของ OOPPAMA นั้น มีความพิเศษ ทั้งในเรื่องการออกแบบ เทคนิคการผลิต วัสดุที่เลือกใช้ เมื่อลงมือทำแบรนด์ในปี พ.ศ 2559 และเริ่มวางขายทางออนไลน์ ก็พบว่า มีลูกค้าที่ชื่นชอบสินค้าแบบนี้อยู่พอควร โดยกลุ่มเป้าหมายที่ฤดีวางไว้ยังไม่กำหนดตายตัว เพราะ “ธุรกิจก็อยู่ในช่วงพึ่งเริ่มต้น กลุ่มเป้าหมายคาดว่าจะเป็นผู้หญิงวัย 27-45 ปี และกำลังทดลองกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ด้วย” โดยคอลเลคชั่นที่ขายอยู่ตอนนี้ คือ Collection TAI TAI มีสินค้า 2 ประเภท คือ Basket Totes และ Clutch “สำหรับ Basket Totes ออกแบบเป็นกระเป๋าหนังสาน สะพายข้าง ขนาดกะทัดรัด โดยด้านในจะมีถุง 2 ชั้นที่ทำจากผ้าฝ้ายเนื้อหนาอีกหนึ่งชั้น เพื่อประโยชน์ใช้สอยที่สะดวกมากขึ้น ส่วนของ Clutch ออกแบบให้เป็นกระเป๋าหนังถือแบบสานเช่นกัน สำหรับใส่ของใช้ส่วนตัวขนาดเล็ก โดยด้านในจะซับใน และแบ่งช่อง 2 ช่อง ทำจากผ้าแคนวาสเนื้อหนา ซึ่งแน่นอนว่าสินค้าทั้งสองประเภท ผลิตด้วยมือและใช้เทคนิค slotting ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์โดยเฉพาะ ส่วนของวัสดุหลักตัวกระเป๋าทำจากหนังแท้รีไซเคิล คละสีและพื้นผิว Collection TAI TAI นี้ได้แรงบันดาลใจจากงานกระเบื้องของวัดวาอารามของกรุงรัตนโกสินทร์ บวกกับลักษณะพื้นผิวของกรุงเทพในยุคปัจจุบัน กระเป๋าทุกใบจะมีสีและพื้นผิวที่ไม่ซ้ำกัน” ส่วนการเลือกใช้คู่สีของกระเป๋าก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กระเป๋าโดดเด่น อันนี้เป็นทักษะเฉพาะตัวของฤดี สังเกตได้จากวิธีการจับคู่สีและพื้นผิวที่น่าสนใจ เช่น การจับกลุ่มสีของหนังไล่ตามน้ำหนักสี แล้วจับคู่กับหนังสีเข้ม ช่วยทำให้เกิดความเปรียบต่างของสีที่สะดุดตา หรือ การจับคู่วัสดุที่มีผิวสัมผัสต่างกันโดยเลือกใช้หนังสีเดียวกันทั้งหมด แต่ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นจะมีผิวสัมผัสที่ต่างกัน
ก้าวต่อไปของอุปมา
เพราะอุปมาเกิดจาก “การนำสัญลักษณ์แบบไทยดั้งเดิมมาประยุกต์ใหม่ให้มีความร่วมสมัย และมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต เช่น เทคนิค slotting” ทำให้เกิดรูปลักษณ์ของสินค้าที่มีดีไซน์ที่สวยแปลกตา เหมาะกับการใช้งานในสังคมเมืองปัจจุบัน ฤดีจึงได้วางแผนการในอนาคตว่า “แบรนด์วางแผนที่จะปรับปรุงโมเดลธุรกิจใหม่ เพราะคาดว่าแบรนด์จะน่าจะขยายออกไปได้อีกในอนาคต ส่วนผลิตภัณฑ์ก็อยากจะให้มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ด้วยราคาที่สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น”
เกร็ดปิดท้าย
- ผลลัพธ์จากการทดลองทำ บางครั้งอาจไม่ตรงกับที่คิดไว้ แต่เราต้องรู้จักปรับตัวอยู่เสมอ
- การสำรวจตลาดและผลิตภัณฑ์ เป็นกลยุทธ์ที่นักออกแบบควรให้ความสำคัญและทำอย่างสม่ำเสมอ
- การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และแตกต่าง จะช่วยสร้างการจดจำให้กับแบรนด์ได้ง่ายขึ้น
-การสร้างเครือข่ายมีความสำคัญ เพราะคิดว่ามันเหมือนเป็นการเรียนรู้จากแบรนด์อื่นๆ
คุณสามารถติดต่อกับนักออกแบบได้โดยตรง
คลิก view profile เพื่อเชื่อมต่อกับ OOPPAMA