
จุดเริ่มต้นของ พรรณโทน
ศุภวิชญ์ และ โศภิษฐา ได้รับโจทย์ให้ออกแบบกระเช้าของขวัญปีใหม่ เขาทั้งสองเริ่มต้นด้วยการนำผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายผ่าน Blue Basket มาจัดวาง โดยเน้นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคเป็นหลัก ทั้งคู่มีความรู้สึกว่าตัวกระเช้าที่ทำจากตะกร้าหวายพร้อมผลิตภัณฑ์กินพื้นที่มาก จัดวางยาก แถมมีราคาค่อนข้างสูง ยิ่งผลิตภัณฑ์บางประเภท เช่น น้ำสกัดเย็นที่ต้องควบคุมความเย็นให้สินค้าคงคุณภาพ ส่งผลให้การจัดส่งกระเช้ามีความยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งตัวกระเช้าหลังจากใช้เสร็จก็มักจะกลายไปเป็นขยะ ยากต่อการนำมาใช้ต่อ ด้วยเหตุนี้ทั้งสองจึงพยายามหาแนวทางใหม่ในการจัดชุดของขวัญปีใหม่ หนึ่งในนั้นคือการนำข้าวที่บรรจุอยู่ในถุงสุญญากาศมาจัดวางเป็นชุดของขวัญ ทั้งสองพบว่าสีของพันธุ์ข้าวออร์แกนิคที่แตกต่างช่วยเพิ่มความงามให้กับชิ้นงาน ทำให้ผู้บริโภคอยากลองทานข้าวหลากหลายพันธุ์ อีกทั้งการจัดเรียงก็ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องใช้กระเช้าหวาย แก้ปัญหาเรื่องการขนส่งสามารถควบคุมราคาให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ ส่งผลให้กระเช้าของขวัญปีใหม่ของ Blue Basket จบลงที่ชุดของขวัญข้าวไทย จุดเริ่มต้นของโครงการ พรรณโทน พันข้าว พันธุ์ไทย
เสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ใน พรรณโทน
แนวคิดของ พรรณโทน เกิดขึ้นก่อนที่จะมีกระแสเรื่องราคาข้าวตกต่ำเมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 ตัวโครงการไม่ได้เริ่มจากคำว่า อยากช่วยชาวนา เพราะลำพังเพียงแค่ทีมงานเล็กๆของ Blue Basket คงจะช่วยชาวนาในภาพใหญ่ระดับประเทศไม่ได้ อีกทั้งชาวนาที่ทีมงานรู้จักก็มีความน่ารัก มีผลิตผลที่ดีและอยู่รอดได้อย่างแข็งแรงบนความพอเพียงอยู่แล้ว ทีมงานจึงขอเป็นเพียงพลังเล็กๆที่นำไอเดียความคิดสร้างสรรค์ไปเติมแต่ง พร้อมสื่อสารกับผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ เป็นอีกหนึ่งแขนขาที่ช่วยให้ชาวนาออร์แกนิคที่ใส่ใจในทุกกระบวนการผลิตมีตลาดที่ขยายใหญ่ขึ้น ศุภวิชญ์ กล่าวว่า จะว่าไปแล้วชาวนาต่างหากที่ช่วยเรา เพราะท่านเหล่านั้นได้ปลูกข้าวออร์แกนิคพร้อมรักษาพันธุ์พืชพื้นบ้านให้คงอยู่เพื่อลูกหลานของเรา
หยิบพันธุ์ข้าวสร้างสีสัน
ทีมงานนำจุดเด่นของสีสันบนเมล็ดข้าวมาเป็นหัวใจหลักของงานออกแบบ โดยนำองค์ประกอบการจัดวางแถบสีของ Pantone® มาเป็นต้นตอแรงบันดาลใจในงานออกแบบ บรรจุภัณฑ์ด้านหน้าเปิดพื้นที่โล่งด้านบนประมาณ 2 ใน 3 ของบรรจุภัณฑ์ให้เป็นพื้นที่แสดงสีของพันธุ์ข้าวจริง ส่วนด้านล่างเป็นพื้นที่บอกสายพันธุ์ข้าว พร้อม เลขรหัสพรรณโทน ท่ีบอกถึงลักษณะของข้าวแต่ละสายพันธุ์ เช่น พรรณแดงศรีถาวร 11-2005 หมายถึง (1) ข้าวเหนียว (1) ข้าวกล้อง/ข้าวซ้อมมือ (2) ข้าวสีแดง (005) รหัสการลงทะเบียนสายพันธุ์ข้าวในระบบ เป็นต้น ด้านหลังของบรรจุภัณฑ์จัดพื้นที่แสดงข้อมูลของข้าว เช่น ข้าวเหนียว แดงสีถาวรเป็นการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวหอมมะลิแดง (พันธุ์พ่อ) กับข้าวเหนียวสันป่าตองใหญ่ (พันธุ์แม่) ที่มาพร้อมกับคุณประโยชน์ในเรื่องของสารโพลีฟีนอล อันเป็นสารในกลุ่มต้านอนุมูลอิสระ พร้อมค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ รวมไปถึงข้อมูลผู้ผลิต วิธีการหุง และวันที่ผลิต
เปิดตลาดข้าวใหม่บนโลกออนไลน์
พรรณโทน เป็นหนึ่งในโครงการของ Blue Basket (ตะกร้าของคนช่างเลือก) ตลาดนัดธรรมชาติจากผู้ผลิตที่ใส่ใจเพื่อคนรักสุขภาพที่เปิดขายหน้าร้านผ่านโลกออนไลน์ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิ และผู้บริโภคที่สามารถซื้อขายได้โดยตรง โดยเน้นเรื่องตลาดของกิน ของใช้เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ที่เปิดขายนอกจากจะมีราคาสมเหตุสมผลแล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติที่เกื้อกูลต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค อาหารปลอดสารพิษ สบู่ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เสื้อผ้าเส้นใยธรรมชาติ เป็นต้น Blue Basket ต้อนรับผู้ผลิตไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตขนาดเล็กๆ ที่เพิ่งหัดทำ หรือเข้มแช็งแล้ว แต่ต้องการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้ซื้อ หากผู้ผลิตมีสินค้าที่ดีต่อสุขภาพก็สามารถเดินเข้าหา Blue Basket ได้เลย โดยทีมงานมุ่งมั่นที่จะปั้น Blue Basket ให้เป็นตลาดออนไลน์ 1 ใน 3 ของคนรักสุขภาพในประเทศไทย โดยตั้งเป้าที่จะมีผู้ผลิตจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่าน Blue Basket 20 ร้านภายในปีนี้
ความคิดสร้างสรรค์กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์
สองนักออกแบบ กล่าวว่า นอกจากความสวยงามอันเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมไปถึงการสร้างแบรนด์แล้ว การเล่าเรื่อง (Story Telling) ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นการสร้างความผูกพันทางใจผ่านทุกการใช้งาน ด้วยเหตุนี้ นักออกแบบจำเป็นต้องทำให้ผู้บริโภคสัมผัสถึง คุณค่า ที่ซ่อนอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์ผ่านงานออกแบบสร้างสรรค์ให้มากที่สุด
ความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์กับการทำธุรกิจ
โศภิษฐา ให้แแง่คิดที่น่าสนใจว่า ตัวเองมีโอกาสเดินทางไปในประเทศจอร์แดน ประเทศที่มีเพียงแค่หินกับทราย แต่เธอกลับพบเห็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์มากมายในจอร์แดนที่พัฒนามาจากวัตถุดิบที่มีเพียงแค่ 2 ประเภทหลักเท่านั้น มันแสดงให้เห็นว่านักออกแบบสามารถนำศักยภาพของหินและทรายมาใช้ได้อย่างสูงสุด ในขณะที่ไทย เป็นประเทศที่มีวัตถุดิบที่หลากหลาย รวมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณีและวัฒนธรรมที่มากมาย แต่เรากลับนำสิ่งเหล่านั้นมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้ไม่เต็มศักยภาพ ถึงเวลาที่เราควรใช้ความคิดสร้างสรรค์พลิกองค์ความรู้เหล่านั้นสรรสร้างผลิตภัณฑ์พร้อมสร้างแบรนด์ไทยให้มี คุณค่า เพราะสิ่งเหล่านี้คือเอกลักษณ์ของคนไทยที่ไม่มีชาติใดเอาไปเป็นเจ้าของได้