
ค้นพบลายเซ็นต์ผ่านการสร้างธุรกิจ
หลังจากจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิยาลัยศิลปากร ธนกฤตเดินเข้าสู่อาชีพสถาปนิกในสำนักงานออกแบบ แม้ว่าจะตอบโจทย์เรื่องการออกแบบอาคารสถาปัตยกรรมตามที่ตนเองชื่นชอบ แต่ธนกฤตกลับคิดว่าถ้ามีโอกาสสร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมา จะช่วยให้เขาฝึกทักษะถึง 2 ด้าน ด้านแรกคือ ทักษะงานออกแบบ ที่สามารถต่อยอดพัฒนาแนวทางการออกแบบหรือลายเซ็นต์ของตนเองขึ้นมาได้ด้วย ส่วนด้านที่สองคือ การฝึกทักษะด้านงานบริหารจัดการองค์กร ซึ่งเจ้าของธุรกิจทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ ไม่ว่าคุณจะเริ่มต้นทำงานในวัยใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้ เขาจึงร่วมหุ้นกับธิตินาฏ สมแก้ว ก่อตั้ง GOODSPACE Prefab บริษัทรับก่อสร้างบ้านสำเร็จรูปขึ้นมา โดยใช้เวลาวิจัยพัฒนากว่า 1 ปีก่อนเริ่มต้นเดินเครื่องทำธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ
จากงานสถาปัตยกรรมสู่บ้านสำเร็จรูป
หลังจากออกมาสร้างธุรกิจได้ปีกว่าๆ ธนกฤตค้นพบว่างานออกแบบในกลุ่มบ้านจัดสรรกลับก้าวไม่ทันงานออกแบบตามไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย ในขณะที่งานออกแบบรีสอร์ทหรือโรงแรมกลับพัฒนาไปไกลมาก นอกจากนี้เขาได้นำมุมมองการทำธุรกิจมาสร้างโอกาสในการทำตลาด เขามองว่าธุรกิจบ้านจัดสรร เป็นธุรกิจประจำถิ่น ประจำพื้นที่ หมายถึง ถ้าเราสร้างบ้านพักอาศัย ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนในพื้นที่ กลุ่มลูกค้าก็จะถูกจำกัดในระดับท้องถิ่น แต่ถ้าเรามองมุมต่างสร้างธุรกิจบ้านพักอาศัยแบบสำเร็จรูป ลูกค้าที่เข้ามาก็ไม่ได้ถูกตีกรอบไว้เพียงแค่พื้นที่ที่บริษัทตั้งอยู่เท่านั้น แต่เป็นลูกค้าทั่วประเทศที่การเดินทางขนส่งเข้าถึงได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงเริ่มพัฒนาธุรกิจบ้านพักสำเร็จรูปที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย อุดช่องว่างสร้างโอกาสทางธุรกิจขึ้นมาใหม่
สร้างเอกลักษณ์พร้อมการันตีคุณภาพ
หลายท่านอาจไม่ทราบว่า บ้านสำเร็จรูปในท้องตลาดมีผู้ผลิตมากกว่า 1,000 ราย แต่ถนนสายบ้านสำเร็จรูปส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การก่อสร้างที่รวดเร็ว ราคาถูก งบไม่บานปลาย ซึ่งนั่นไม่ใช่ความเข้าใจที่ผิด แต่ธนกฤตกลับมองเห็นอีกหนึ่งทางแยกของบ้านสำเร็จรูปที่ GOODSPACE Prefab สามารถฉีกตัวออกจากเส้นทางเดิม เขามองว่าลูกค้าในยุคการตลาด 3.0 ไม่ชอบอะไรที่เหมือนๆ กัน อยากสร้างบ้านที่สื่อความเป็นตัวตนของตนเองให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ GOODSPACE Prefab จึงทำบ้านที่นอกจากจะมีประโยชน์ใช้สอยสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยแล้ว บ้านแต่ละหลังจะต้องสะท้อนความเป็นตัวตนของลูกค้าได้ เช่น บางคนเป็นคนเรียบง่าย บางคนชอบสไตล์ทันสมัย หรือบางคนมีความพิถีพิถัน ตัวบ้านที่ถูกออกแบบมาจะต้องตอบโจทย์ในจุดนี้ด้วย ดังจะเห็นได้จาก บ้านหลังแรกที่ทีมงานปล่อยออกมาจะเป็นบ้านที่ทันสมัยมากๆ ดิบมากๆ เพื่อกลุ่มลูกค้าที่ชอบความเป็นโมเดิร์น ทั้งนี้ทีมงานกำลังพัฒนาบ้านที่ดูเรียบง่าย เพื่อตอบสนองความต้องการของอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมาย
แง่คิดในการสร้างธุรกิจ
ธนกฤตกล่าวว่า ตนเองยังเพิ่งเริ่มต้นสร้างธุรกิจ อาจจะไม่มีวิสัยทัศน์ที่คมชัดชี้ผิดชี้ถูกได้ แต่ส่วนตัวขอแบ่งปันแนวคิดว่า การทำธุรกิจทุกประเภทย่อมเจอ “ปัญหา” เสมอ มันเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจงมีความพยายามที่จะแก้ไขพร้อมสู้กับมันให้ถึงที่สุด อย่ายอมแพ้กับอุปสรรค ที่สำคัญ ให้ตั้งโจทย์ที่ยากเข้าไว้ เพราะเราจะได้ “คำตอบ” ดีๆจากมันเสมอ
สรุปแนวคิดประเด็นเด็ด
- ควรสร้างสมดุลระหว่างการใช้เครื่องมือสื่อสารทางการตลาดกับกำลังการผลิตที่เราทำได้ เพราะเงินทุนเราสามารถกู้ได้ แต่เราไม่สามารถเร่งกระบวนการผลิตจนขาดคุณภาพได้
- การประกอบธุรกิจสร้างสรรค์จำเป็นต้องใช้ทักษะด้านงานออกแบบและการบริหารจัดการควบคู่กันไปเสมอ
- เนื่องจากลูกค้ามีอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นทีมงานจึงให้ความสำคัญกับ การตรวจสอบคุณภาพสินค้าอย่างละเอียดถึง 2 สัปดาห์ก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค เพื่อลดปัญหาระหว่างการใช้งาน ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกลเพื่อบำรุงรักษาบ้านสำเร็จรูปบ่อยครั้ง
- ตั้ง “โจทย์” การทำธุรกิจให้ยาก เพื่อที่จะได้ “คำตอบ” ดีๆ ในการสร้างพลังขับเคลื่อนทางธุรกิจ